โรคโลหิตจางติดต่อในม้า (Equine Infectious Anemia: EIA)

โรคโลหิตจางติดต่อในม้า (Equine Infectious Anemia: EIA)

โรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัสที่เรียกว่า Equine Infectious Anemia virus เป็นโรคที่ไม่มีวัคซีน หากเป็นแล้วไม่สามารถรักษาได้ 

ระยะของโรคนี้มี 2 ระยะด้วยกันคือ

1. Acute phase (ระยะเฉียบพลัน) 

ระยะเฉียบพลันม้าจะตายภายในเวลาไม่กี่วัน (Sudden death) โดยอาการป่วยจะไม่มีอาการโดดเด่น สิ่งที่ตรวจพบคือม้ามีไข้สูง อัตราการเต้นของหัวใจและอัตราการหายใจสูง เยื่อเมือกมีสีซีด (Pale mucous membrane) ตรวจเลือดจะพบภาวะโลหิตจาง (Anemia) ระยะนี้เมื่อตรวจเลือดมักได้ผลลบเนื่องจากร่างกายจะใช้เวลา 30-45 วันในการสร้างแอนติบอดี้ (Antibody) ต่อเชื้อไวรัส

2. Chronic phase (ระยะเรื้อรัง)

ในกรณีที่ม้าติดโรคและแสดงอาการในระยะเฉียบพลันแต่ไม่ตาย และมีชีวิตรอดมากเกิน 1 ปี ม้าตัวนั้นจะเป็นพาหะไปตลอดชีวิต โดยเรียกว่าเป็นพาหะนำโรค (Inapparent carriers) หมายความว่าในตัวม้ามีเชื้อ EIA แต่ไม่แสดงอาการของโรคเลย สามารถแพร่เชื้อได้เมื่อภูมิคุ้มกันของร่างกายตก และพบว่าม้าที่เป็นโรคนี้มักจะเป็นแบบนี้เป็นจำนวนมาก เมื่อตรวจเลือดจะได้ผลบวก

การติดต่อของโรคโลหิตจางติดต่อ

เชื้อติดต่อผ่านทางเลือดโดยผ่านสื่อกลางต่างๆ อาทิเช่น ยุง เหลือบ แมลงวันคอก หรืออาจติดจากเครื่องมือก็ได้เช่น ตะไบฟัน หรือเข็มฉีดยา เชื้อไวรัสสามารถอยู่นอกตัวสัตว์ได้แค่ 30-40 นาทีเท่านั้น 

การตรวจโรคโลหิตจางติดต่อ

การตรวจโรคนี้สามารถตรวจได้ทั้งแอนติบอดี้ (Antibody) และแอนติเจน (Antigen) วิธีที่ดีที่สุดที่เป็นที่ยอมรับ (Gold standard) คือ Coggin’s test ซึ่งใช้หลักการตรวจหาแอนติบอดี้ต่อเชื้อ ด้วยวิธี Agar Gel Immunodiffusion (AGID) แอนติบอดี้ที่ตอบสนองต่อเชื้อ EIA จะใช้เวลาสร้างที่ 30-45 วัน 

1.กรณีผลตรวจเป็นบวกทางห้องปฏิบัติการจะตรวจเลือดซ้ำเพื่อยืนยันผลก่อนรายงานเจ้าของม้า และกรมปศุสัตว์ 

2. กรณีผลตรวจเป็นบวกแต่ไม่ชัดเจน (Weak positive) เจ้าของจะต้องส่งเลือดตรวจซ้ำอีกครั้งใน 3-4 สัปดาห์หลังจากครั้งแรก และควรส่งเลือดตรวจที่ห้องปฏิบัติการอื่นอีกอย่างน้อย 2 ที่ ในช่วงที่ยังไม่ทราบผลที่ชัดเจนจะต้องกักโรคม้าไว้ โดยห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐานเดียวกันในการตรวจโรคโลหิตจางติดต่อมีดังนี้

  • โรงพยาบาลม้าโคราช สำนักงานกรุงเทพฯ อ่อนนุช 7/1 (โรงพยาบาลสวนสัตว์)
  • คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตศาลายา
  • คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน
  • คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

การตรวจแล้วได้ผล Weak positive จะพบได้ในกรณีที่ม้าเพิ่งได้รับเชื้อมาใหม่ๆ ทำให้แอนติบอดี้ยังสร้างไม่ถึงในระดับที่สามารถตรวจได้ชัดเจน (ใช้เวลาสร้าง 30-45 วันหลังจากรับเชื้อ)

การป้องกันโรคโลหิตจางติดต่อ

เมื่อพิจารณาจากการติดต่อของโรคแล้วจะสามารถทราบแนวทางการป้องกันโรคได้ดังนี้

  • แยกสัตว์ที่ต้องสงสัยออกไปจากม้าตัวอื่นมากกว่าระยะที่เหลือบสามารถบินถึง คือมากกว่า 200 เมตร
  • ก่อนนำสัตว์เข้าคอกหรือฟาร์มควรกักบริเวณและตรวจเลือดก่อนนำเข้าฟาร์มทุกครั้ง และหากพบว่าผลเลือดไม่แน่ชัดให้ตรวจซ้ำจนกว่าจะมั่นใจได้ว่าม้าตัวที่จะนำเข้าไม่ได้เป็นโรคนี้
  • ควรปรับปรุงการจัดการเพื่อลดความเสี่ยงที่ม้าจะเจอกับแมลงนำโรค
  • ควรตรวจเลือดม้าทั้งหมดในคอกอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
  • ผลเลือดจะมีผล ณ เวลาที่เจาะเลือดม้าเท่านั้น สามารถใช้ได้ต่อเนื่องในกรณีที่ไม่มีการเคลื่อนย้ายม้าเข้า-ออกเท่านั้น เพราะหากมีการเคลื่อนย้ายม้า ม้าก็มีโอกาสติดเชื้อจากม้าตัวอื่น หรือแมลงนำโรคในบริเวณอื่นได้
หากแม่ม้าที่เป็น EIA ลูกม้าที่เกิดจากแม่ตัวนั้นจะเป็น EIA ด้วยหรือไม่

ลูกม้าที่เกิดจากแม่ที่เป็น EIA ไม่ว่าลูกม้าจะเป็น EIA หรือไม่ก็ตาม เมื่อตรวจเลือดจะพบว่าได้ผลเลือดเป็นบวกจนลูกม้าอายุ 6 เดือน เพราะลูกม้าจะได้รับแอนติบอดี้ต่อเชื้อ EIA ผ่านทางนมน้ำเหลืองมาด้วย แต่เชื้อนี้ไม่ติดต่อผ่านทางรก และผ่านทางน้ำนมแต่อย่างใด ดังนั้นในกรณีที่แม่ม้าเป็น EIA ลูกม้าจะไม่เป็นด้วยหากเราแยกลูกม้าออกมาก่อนที่ลูกม้าจะโดนถ่ายทอดเชื้อโดยผ่านทางแมลงนำโรค แต่ก็ยังคงมีความเสี่ยงว่าลูกม้าอาจจะติดโรคจากเครื่องมือ หรือเลือดของแม่ที่ออกมาระหว่างที่คลอดก็เป็นได้