โรคเซอร่า (Surra; Trypanosomiasis)

โรคเซอร่า (Surra; Trypanosomiasis)

โรคเซอร่าเป็นโรคที่เกิดจากพยาธิในเลือดที่ชื่อว่า Trypanosoma evansi เป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายได้ และสามารถให้ยาป้องกันได้ พยาธิในเลือดกลุ่ม Trypanosome สามารถพบในได้สัตว์ชนิดอื่นเช่น โค กระบือ แต่บางครั้งโค กระบือที่ติดเชื้อนี้ก็ไม่แสดงอาการ เพราะว่าทนต่อเชื้อนี้มากกว่าม้า

อาการของโรคเซอร่า

ม้าจะมีไข้สูง ผอมลง (Weight loss) เยื่อตาจะอักเสบบวมแดง (Conjunctivitis) กระจกตาอักเสบ (Keratitis) และมักพบว่ามีอาการบวมที่ส่วนล่างของร่างกาย (Ventral edema) บริเวณใต้ท้อง อัณฑะ และขาทั้งสี่ข้าง

  • ในรายที่เป็นแบบเฉียบพลัน ม้าจะตายภายใน 2 สัปดาห์ หากไม่ได้รับการรักษา
  • ในรายที่เป็นแบบเรื้อรัง ม้าจะตายภายใน 2 เดือน หากไม่ได้รับการรักษา

การติดต่อของโรคเซอร่า

โรคนี้นำโรคโดยตัวเหลือบ (Tabanus) โดยการกัดสัตว์ที่มีพยาธิในเลือด แล้วไปกัดสัตว์อีกตัวหนึ่ง โรคนี้มักจะเกิดมากในฤดูกาลที่มีเหลือบมาก (แต่เมืองไทยพบเหลือบได้ตลอดทั้งปี)

การตรวจโรคเซอร่า

  • โรคนี้ตรวจด้วยการทำ Buffy coat smear เพื่อตรวจหาตัวเชื้อภายใต้กล้องจุลทรรศน์โดยตรง 
  • การส่งตรวจเลือดให้เจาะเลือดใส่ในหลอดเก็บเลือดสีม่วง (EDTA tube) แล้วผสมเลือดให้เข้ากับสารกันเลือดแข็งตัวโดยการพลิกหลอดกลับหัว 2-3 ครั้ง แล้วแช่ในน้ำแข็งที่อุณหภูมิประมาณ 4 องศาเซลเซียส แล้วส่งห้องปฏิบัติการ

การป้องกันโรคเซอร่า

โรคนี้สามารถป้องกันได้ด้วยการจัดการที่มีประสิทธิภาพ ไม่เลี้ยงม้าร่วมกับสัตว์อื่นที่มีความเสี่ยงต่อโรคนี้ หรือหากเลี้ยงรวมกับโค กระบือ ก็ควรมีการเจาะเลือดตรวจพยาธิในโค กระบือด้วย

มียาที่สามารถฉีดเพื่อรักษาและป้องกันโรคนี้ได้ 

การรักษาโรคเซอร่า

  • เดิมทีมีการใช้ Berenil เพื่อรักษาโรคเซอร่าในม้า แต่พบว่าไม่ค่อยได้ผลเท่าที่ควร และพบว่าม้ามีอาการแพ้ยานี้
  • ปัจจุบันการรักษาและป้องกันโรคนี้จะใช้ Quinapyramine sulphate (Triquin, Antrycide Prosalt) และควรอยู่ภายใต้การควบคุมและแนะนำของสัตวแพทย์ เพราะการฉีดในสัตว์ที่อ่อนแออาจเกิดผลข้างเคียงได้