แคลเซี่ยม (Calcium)

แคลเซียม (Calcium)

เป็นธาตุสำคัญมากในการเจริญของกระดูก ในประเทศไทยมีปัญหาการขาดแคลเซียมที่เกิดจาก 2 สาเหตุใหญ่ คือ 
1.ม้าได้รับแคลเซียมไม่พอ 
2.ม้าได้รับฟอสฟอรัสสูงเกินไป จะกดการดูดซึมแคลเซียม
การที่ม้าได้รับ  แคลเซียมไม่พอก็เนื่องจากเราไม่เสริมให้ในอาหาร นอกจากนี้หญ้าในเมืองไทยยังมีสารที่ยับยั้งการดูดซึมของแคลเซียมเป็นปัญหาใหญ่ ทำให้ม้ายิ่งต้องได้รับปริมาณแคลเซียมมากขึ้นเป็นเงาตามตัว  สำหรับฟอสฟอรัสที่มีมากเกินไป จะมีส่วนลดปริมาณ   แคลเซียมในร่างกาย และสิ่งนี้พบได้บ่อยในประเทศไทยเนื่องผลิตผลจากธัญพืชส่วนใหญ่ของเรา  รำ ข้าวเปลือก ข้าวโพด จะมีปริมาณฟอสฟอรัสสูงกว่าแคลเซียมมาก

อาการขาดแคลเซียมที่พบได้แก่อะไร?

ม้าที่มีอาการขาดแคลเซียมมีแบบเรื้อรังและ แบบเฉียบพลัน

1. แบบเฉียบพลันในม้าแข่ง และแข่ง endurance:

จะมีอาการกล้ามเนื้อกระตุกตรงกับจังหวะการหายใจ อาการนี้เกี่ยวกับการส่งสัญญาณประสาทที่ควบคุมกล้ามเนื้อกระบังลม หากไม่ได้รับการแก้ไขทันท่วงที ม้าจะเสียชีวิต

2. แบบเฉียบพลันในแม่ม้า

แม่ม้าที่กำลังให้นม จะต้องมีปริมาณแคลเซียมเพียงพอในการสร้างน้ำนม หากในเลือดมีแคลเซียมลดลงอย่างรวดเร็วและไม่มีการแก้ไข แม่ม้าจะชักและเสียชีวิต

3. แบบเรื้อรังที่พบได้ทั่วไป

ม้าจะมีอาการตัวตึง หน้าโป กรามหนา กระดูกเปราะ หักง่าย บางรายแค่ล้มลงนอนก็ซี่โครงหัก หรือสะโพกหัก มีอาการเคี้ยวหญ้าแล้วคายเพราะฟันจะโยก  บดเคี้ยวอาหารแล้วเจ็บ ร่างกายผอมลงจนเสียชีวิตได้

การแก้ไขทำได้อย่างไร?

สิ่งนี้ทำได้ไม่ยาก เพียงแต่เพิ่มปริมาณแคลเซียมในอาหารทุกวัน และให้แน่ใจว่าอัตราส่วนของแคลเซียม : ฟอสฟอรัสสูงกว่า 2:1 เสมอ การจัดสูตรสามารถปรึกษาสัตวแพทย์เพื่อคำนวณให้ได้

ฉีดแคลเซียมเข้าเส้นเลือดเลยไม่ดีกว่าหรือ?

การฉีดเข้าเส้นจำเป็นเฉพาะรายเฉียบพลัน และถ้าเราให้แคลเซียมเพียงพอในอาหาร กรณีเฉียบพลันก็ไม่เกิดแน่นอน นอกจากนี้การฉีดจะทำให้มีแคลเซียมเพิ่มในกระแสเลือดเร็ว จากนั้นม้าจะขับออกเร็ว ในเวลาประมาณ 12 นาที ทางปัสสาวะ เป็นการเอาเงินซื้อยามาเทลงพื้น การให้ในอาหารดีที่สุดเพราะม้าได้รับทุกวัน    และแคลเซียม จะดูดซึมทางลำไส้ได้ดีกว่ามาก